skip to Main Content

มองมุมกลับ ปรับมุมมอง เมื่อการตลาด..ไม่ใช่เรื่องของนักการตลาด

สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่องค์กรจะทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เพราะลูกค้าไม่เพียงแต่ต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ แต่พวกเขาต้องการซื้อในราคาย่อมเยา ขณะที่บางคนต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากผู้ให้บริการ กลยุทธ์การมุ่งเน้นลูกค้า จึงเป็นการสร้างความประทับใจให้ลูกค้าเหนือคู่แข่ง ช่วยเพิ่มจำนวนของลูกค้าประจำ และผลักดันให้อยู่เหนือคู่แข่งไปอีกขั้นในสนามแข่งขันทางธุรกิจ

แต่เวลาทำกลยุทธ์การตลาด แคมเปญ หรือทำสื่อโฆษณาการตลาด บางครั้งเรามักเจอไอเดียอะไรบางอย่างที่เราชอบ เราอยากทำ เช่น ชั้นชอบครีมตัวนี้ ใช้ดีจัง อยากทำขาย , โฆษณาสิ่งที่เราเก่งออกไปเยอะ ๆ เพราะเรามั่นใจว่าจะทำให้เราขายของได้ ทำให้การตลาดที่ออกไปกลายเป็น “ตอบสนองความต้องการของผู้ทำ” หรือ “Inside-out Marketing”

จนหลายคนอาจหลงลืมไปว่า “การตลาด” คือการ “ตอบสนองความต้องการของลูกค้า” (Outside-in Marketing)

มีเคสสุดคลาสสิกอยู่เรื่องหนึ่ง ที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า การตลาด คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้านั้นคือ บริษัทปั๊มน้ำมัน เมื่อในยุคหนึ่งก่อนหน้านี้ การโฆษณาปั๊มน้ำมัน มักพยายามสื่อสารออกไปว่าน้ำมันของบริษัทนั้น คุณภาพชั้นดี ใช้แล้วเครื่องแรง เน้นไปที่สินค้าน้ำมันเป็นหลัก เพราะนักการตลาดสมัยนั้นเชื่อว่าถ้าสินค้าดี คนก็จะมาใช้บริการปั๊มของเรา.. นึก ๆ ดูแล้วมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่!! เมื่อมีนักวิจัยไปทำวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ผู้ขับรถเลือกใช้ปั๊มน้ำมัน สาเหตุอันดับต้น ๆ คือ “ห้องน้ำสะอาด” ไม่ได้เกี่ยวกับน้ำมันแต่อย่างใด! คดีจึงพลิกกลับมาว่า ปั๊มไหนขึ้นป้ายว่า “ห้องน้ำสะอาด” ก็จะเป็นจุดขายที่สามารถเรียกลูกค้าให้มาใช้บริการได้นั่นเอง จากเคสนี้สอนให้เรารู้ว่า ไม่สำคัญว่าเราจะภูมิใจ มั่นใจ หรืออยากบอกอะไรให้กับลูกค้ามากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุด ต้องเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากการซื้อสินค้าหรือบริการ (Gain) หรือเป็นสิ่งที่ลูกค้าเกิดปัญหาจากการใช้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ (Pain)

สรุปง่าย ๆ ว่า กลยุทธ์การตลาดที่สำเร็จ ก่อนที่จะคิดว่าจะทำอะไร ต้องเริ่มต้นจาก

  • กำหนดลูกค้า กลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเป็นใคร
  • ศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายว่า มีพฤติกรรมใช้สินค้าหรือบริการนั้นอย่างไร
  • ศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายว่า มีปัญหาหรือความต้องการที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการนั้นอย่างไร
  • เปรียบเทียบจุดที่เป็นโอกาสที่ลูกค้าต้องการเหล่านั้น กับคู่แข่ง ว่ามีช่องว่างตรงไหนบ้าง
  • วางกลยุทธ์การสื่อสารช่องว่างนั้นไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่กำหนด
Back To Top